เบียร์ 1

เปิดประวัติ “เบียร์” ในประเทศไทย

“เบียร์” เป็นเครื่องดื่มที่รู้จักกันทั่วโลก มีกำเนิดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีการบันทึกในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย – อียิปต์โบราณ นักโบราณคดียังสันนิษฐานว่า เบียร์มีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของอารยธรรม เพราะคนงานในเมืองอูรุกได้รับเบียร์เป็นค่าจ้าง และระหว่างการก่อสร้างมหาปิรามิดในกิซา คนงานแต่ละคนได้รับเบียร์เป็นหนึ่งในการตอบแทนการทำงาน

สำหรับเมืองไทย เบียร์มีกำเนิดขึ้นประมาณ 90 กว่าปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) มีโอกาสเดินทางไปศึกษาเรื่องเบียร์ที่ประเทศเวียดนาม และแคว้นบาวาเรียในประเทศเยอรมนี

พระยาภิรมย์ภักดี ตัดสินใจยื่นหนังสือขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2473 พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์ในพระนคร เนื่องจากเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างชาติส่งเข้ามาจำหน่ายในสยามเป็นเวลาช้านาน ทำให้เงินตราในประเทศต้องไหลออกเป็นจำนวนมาก หากคนไทยสามารถผลิตเบียร์ขึ้นได้เอง ย่อมเป็นการป้องกันเงินตราไหลออกนอกประเทศทั้งยังขายได้ในราคาถูกกว่า โดยใช้ปลายข้าวเป็นวัตถุดิบแทนข้าวมอลต์ และจำทำให้แรงงานไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย

เบียร์ 2

โดย โรงงานเบียร์ไทยแห่งแรก สร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2476 ในย่านบางกระบือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อ “บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” โดยขณะทำการก่อสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง

พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทว่าบริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า ยุคนั้นอะไรก็ชื่อสยามทั้งนั้น จึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท โดยให้ชื่อว่า “บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ซึ่งทำการผลิตเบียร์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 จำหน่ายในราคา 32 สตางค์ อันเป็นต้นกำเนิดเบียร์ไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก

ครั้งนั้นเบียร์ของบริษัทบุญรอดฯ มีเครื่องหมายการค้าหลายตรา เช่น ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ แต่เครื่องหมายการค้าเก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่จวบถึงปัจจุบัน คือ ตราสิงห์

ขอบคุณบทความจาก : เบียร์